การถ่ายภาพนก ตอนที่ 1: เปิดตาเหยี่ยวเพื่อหาตำแหน่งในการถ่ายภาพนกที่สมบูรณ์แบบ
Sudhir Shivaram (@sudhirshivaram) ช่างภาพสัตว์ป่าจากอินเดียผู้หลงใหลในการรังสรรค์เรื่องราวเปี่ยมแรงบันดาลใจเกี่ยวกับนกและสัตว์ป่า Sudhir เป็นอดีตพนักงานสายไอทีที่ลาออกจากวัฏจักรการทำงานนั่งโต๊ะเพื่อไล่ตามความฝันที่จะถ่ายทอดภาพชีวิตอีกด้านที่สุดโต่ง ในตอนนี้ Sudhir อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการถ่ายภาพสัตว์ป่า พร้อมทั้งหวังว่าเขาจะสามารถทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงของขวัญอันยิ่งใหญ่จากธรรมชาติและความจำเป็นในการปกป้องพวกมันไม่ให้สูญพันธุ์ เขายังเปิดเวิร์กช็อปถ่ายภาพเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและหลักการในการถ่ายภาพทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูงเพื่อช่วยเหลือมือใหม่ที่ต้องการเริ่มถ่ายภาพด้วย ในตอนแรกของบทความที่มีทั้งหมดสามตอนนี้ เราจะมาพูดคุยกับ Sudhir ถึงวิธีการวางแผนตำแหน่งเพื่อสร้างผลงานการถ่ายภาพนกที่งดงามน่าตื่นตา
นกอยูที่ไหน เราอยู่ที่นั่น
การเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับว่า Sudhir กำลังจะถ่ายภาพในโปรเจกต์แบบใด "การเตรียมตัวเดินทางของผมขึ้นอยู่กับสองปัจจัยครับ จุดหมายปลายทางกับสายพันธุ์ การถ่ายภาพโดยอิงตามจุดหมายปลายทางจะไม่มีอะไรซับซ้อน ผมจะไปตามป่าที่ไปบ่อย ๆ นั่นคือ บันดาฟการ์ รันทัมบอร์ และกัณหา แล้วเริ่มถ่ายภาพ ในบางฤดูกาล ผมจะสอบถามกับคนในท้องถิ่นที่ผมติดต่ออยู่ว่า เจออะไรในป่าบ้างก่อนออกเดินทาง สำหรับโปรเจกต์ที่อิงตามสายพันธุ์ ผมจะค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของสายพันธุ์นั้น ๆ และติดต่อคนในท้องถิ่นเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม" Sudhir กล่าว
ฤดูกาลและคุณลักษณะทางกายภาพเป็นปัจจัยที่ Sudhir นำมาพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองปัจจัยนี้จะช่วยเสริมฉากหลังให้กับภาพถ่ายของเขาได้เป็นอย่างดี "ในช่วงฤดูร้อน ป่าที่มีแหล่งน้ำสำคัญจะเปิดโอกาสให้เราได้ถ่ายภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของสัตว์ป่า ในฤดูหนาว ผมจะค้นคว้าสายพันธุ์ของนกที่น่าจะมีการอพยพไปยังพื้นที่ที่ผมอยู่ ตามปกติแล้ว ต้นไม้ที่ออกดอกหรือออกผลคือจุดที่นกจะไปหาอาหารและทำรังเมื่อมีการอพยพ ดังนั้น การเฝ้าดูตามจุดที่ว่าย่อมคุ้มค่าแน่ครับ ในความเห็นของผม เวลาที่เหมาะจะถ่ายภาพนกที่สุดคือในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงที่นกอพยพ หรือไม่ก็ช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่พวกมันจะผสมพันธุ์ครับ" Sudhir กล่าว
อินเดียซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของ Sudhir นั้นมีอุทยานแห่งชาติดี ๆ มากมายซึ่งเข้ากับสไตล์การถ่ายภาพนกของเขาอย่างแท้จริง "จุดถ่ายภาพที่ผมชอบมากก็อย่างเช่นที่ อุทยานแห่งชาติเคโอลาเตโอในภารัตปูร์ ลิตเติลแรนน์ออฟคัตจ์ในรัฐคุชราต และเขตรักษาพันธุ์นกซาลิม อาลีในรัฐกัว ที่โปรดที่อื่นของผมนอกจากอินเดียก็คือคอสตาริกาและโคลัมเบียครับ" เขาบอก
เทคนิคในการโบยบินเข้าหาการถ่ายภาพนก
ผู้ที่กำลังอยากเข้าสู่วงการการถ่ายภาพนกสามารถเก็บภาพนกที่สวยสมบูรณ์แบบได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน "ส่วนที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพนกคือคุณสามารถถ่ายภาพได้จากสวนหลังบ้านของคุณเอง คุณจึงไม่ต้องออกไปที่ไหนไกล ๆ หรือไปตามป่าเขา การถ่ายภาพนกในเมืองเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้เริ่มต้นเพราะสามารถเข้าถึงได้สะดวก อันที่จริง ผมก็เริ่มถ่ายภาพนกใกล้แหล่งน้ำในเมืองนี่แหละ ดูแผนที่เมืองของคุณเพื่อหาจุดที่เป็นแหล่งน้ำแล้วไปที่นั่นเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมนกในพื้นที่ดูนะครับ"
สำหรับ Sudhir แล้ว เงื่อนไขที่เหมาะสมและความอดทนในระดับหนึ่งคือหนทางสู่ความสำเร็จ "การถ่ายภาพสัตว์ป่าและนกนั้นคล้ายกันครับ ต่างกันเพียงอย่างเดียวคือวิธีการในการเข้าถึงตัวแบบ ในการถ่ายภาพนก การเลือกความยาวโฟกัสที่เหมาะสมเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดเพราะคุณต้องจับภาพนกให้อยู่ในเฟรมโดยไม่ไปรบกวนพวกมัน แต่ส่วนที่ดีที่สุดคือคุณจะสามารถทำงานคนเดียวได้โดยไม่วอกแวก และคุณสามารถเลือกสถานที่ถ่ายภาพได้ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะที่การถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น ส่วนใหญ่คุณจะต้องอยู่ในรถซาฟารีเพื่อที่จะได้เข้าถึงตัวแบบโดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้มันตื่นตกใจจนหนีไป แต่ก็มีโอกาสที่คุณจะได้เดินทางด้วยรถแบบอื่นเช่นกัน ซึ่งแบบนั้นอาจทำให้ถ่ายภาพตัวแบบได้ลำบากหน่อย" เขากล่าวเสริม
เมื่อทำการถ่ายภาพ ต้องใช้ความระมัดระวังมากในการเข้าหาตัวแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นการรบกวนพวกมันและทำให้พวกมันตื่นกลัวจนหนีไป "ช่างภาพจำเป็นต้องเข้าใจถึงความกลัวของนกระหว่างที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ในบางสถานที่ที่นกไม่ค่อยได้พบเจอมนุษย์ ผมมักจะเดินทางคนเดียว อย่างไรก็ตาม ถ้านกไม่มีอาการตื่นกลัวใด ๆ เมื่อมีช่างภาพอยู่ใกล้ ๆ ผมก็อาจชวนเพื่อนหรือลูกค้าจากเวิร์กช็อปถ่ายภาพของผมไปด้วยกันครับ"
ท้ายที่สุด เกณฑ์หลักในการเป็นช่างภาพนกคือความเข้าใจที่มีต่อนกและพฤติกรรมของมัน "การอ่านหนังสือเกี่ยวกับนกช่วยได้มากครับ เพราะทำให้คุณรู้ว่านกจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรในแต่ละสถานการณ์ อีกวิธีหนึ่งคือการเข้ากลุ่มดูนกออนไลน์และการนัดพบปะของกลุ่มคนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน พวกเขาเหล่านี้จะเต็มใจให้ข้อมูลต่าง ๆ กับคุณเพื่อช่วยให้คุณเริ่มการถ่ายภาพนกครับ”
สำหรับช่างภาพนก การเตรียมตัวคือหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายนกที่ทะยานเด่นเหนือใคร "คำแนะนำแรกจากผมสำหรับคนที่กำลังถ่ายภาพนกคือ ให้เตรียมความพร้อมให้ตัวเองด้วยการศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะคว้ากล้อง ศึกษาว่านกมีพฤติกรรมอย่างไร อาศัยอยู่ที่ไหน และมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร เพื่อที่คุณจะได้เก็บภาพจังหวะที่นกกำลังกางปีกโผบินเอาไว้ในกล้องได้ คำแนะนำอย่างที่สองคือต้องอดทน บางครั้งอะไร ๆ ก็ไม่เป็นไปอย่างที่คุณอยากให้เป็นเสมอไป คุณจึงควรลองและปรับตัวไปตามสถานการณ์ ในที่สุดคุณก็จะได้พบกับช่วงเวลาที่เหนือความคาดหมายซึ่งคู่ควรจะนำไปประดับไว้ในอัลบั้มภาพถ่ายของคุณครับ" Sudhir กล่าว
อ่านตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ว่าด้วยอุปกรณ์ของสุดีร์และเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยยกระดับการถ่ายภาพนกของคุณขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง