แนะนำ

เที่ยวรอบเมืองกับ โคกิ ยามากุจิ ปรมาจารย์แห่งภาพถ่ายทิวทัศน์เมือง

by Kohki Yamaguchi

Article Categories

โคกิ ยามากุจิ (@kohki) ทะยานขึ้นมามีชื่อเสียงด้วยภาพถ่ายที่งดงามน่าทึ่งของเขา เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง @Discovertokyo ซึ่งเป็นชุมชนการถ่ายภาพที่ตั้งอยู่ในโตเกียว  หลังจบการศึกษาจาก University of Sydney ในปี 2017 ด้วยปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตสองสาขาวิชาเอกด้าน Critical Thinking และ Visual Arts ตั้งแต่นั้นมา โคกิก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่ในโตเกียวร่วมกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย   

จาก Instagram ของเขา โคกิได้ฟูมฟักและบ่มเพาะความรักในการถ่ายภาพทิวทัศน์เมืองของเขาโดยมีโตเกียวเป็นแบบถ่ายภาพหลัก สำหรับเขาแล้ว โตเกียวเป็นหนึ่งในเมืองที่ดีที่สุดของโลกด้วยความหลากหลาย ตลอดจนเขตต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์เมือง  

Alpha 1 | FE 24mm F2.8 G | 1/2 sec | F9 | ISO 125

ภาพถ่ายทิวทัศน์เมืองให้ดียิ่งขึ้นด้วย Sony Alpha  

สำหรับโคกิแล้ว การถ่ายภาพทิวทัศน์เมืองของเขาดียิ่งขึ้นได้ด้วยกล้อง Sony Alpha 7R III คู่ใจและเลนส์ไพรม์ตัวโปรดของเขา “ผมเป็นคนที่ชอบใช้เลนส์ไพรม์ เลยลงเอยด้วยการครอบครองเลนส์ไพรม์เกือบทุกรุ่น สำหรับภาพทิวทัศน์เมือง ผมชอบใช้ Sony FE 14mm F1.8 GM, Distagon T* FE 35mm F1.4 ZA และ Sonnar T* FE 55mm F1.8 ZA”  

โคกิมักจะพกพาเลนส์คลาสสิกอย่าง FE 16-35mm F2.8 GM ไปถ่ายหนังด้วย ทว่า เนื่องจากเขาไม่สามารถพกพาเลนส์ประสิทธิภาพสูงเหล่านี้ไปด้วยหมดทุกตัวในทริปเดียวได้ เขาจึงพก FE 85mm F1.4 GM หรือ FE 70-200mm F2.8 GM OSS ซึ่งใช้งานได้ดีทั้งกับภาพนิ่งและวิดีโอ  

เมื่อเร็ว ๆ นี้ โคกิตกหลุมรักเข้ากับ Sonnar T* FE 55mm F1.8 ZA เพราะนอกจากจะทำงานได้ดีกับการถ่ายภาพทิวทัศน์แล้ว ยังสามารถทำงานได้ดีกับการถ่ายภาพหลายแนว ซึ่งรวมถึงภาพบุคคลด้วย “ผมจะพก Sonnar T* FE 55mm F1.8 ZA ไปถ่ายภาพกับผมด้วยถึง 99% ไม่ว่าผมจะไปถ่ายอะไร ด้วยขนาดที่เล็กและเบาของเลนส์ ประกอบกับความละเอียดที่ดีเยี่ยมและขีดความสามารถอันทรงพลังทำให้เลนส์ตัวนี้เป็นคู่หูที่ผมไว้ใจได้ในระหว่างการถ่าย”  

Alpha 1 | FE 24mm F2.8 G | 1.6 sec | F11 | ISO 100

สำหรับกล้องแล้ว โคกิเชื่อใจให้กล้องซีรีส์ Alpha ให้เป็นเครื่องมือบันทึกวิสัยทัศน์และการผจญภัยของเขา ประสิทธิภาพการประมวลผลได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ความสามารถในการโฟกัสอัตโนมัติที่ราบรื่น และความสะดวกที่สนับสนุนขั้นตอนการทำงานที่หนักหน่วงทำให้กล้องตัวนี้เป็นคู่หูที่ดีอย่างยิ่งในการถ่ายภาพกลางแจ้ง  

“กล้อง Sony Alpha ทุกรุ่นเหมาะมากในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ปกติผมใช้ Alpha 7R III และเคยลองใช้ Alpha 1 ด้วย ทั้งคู่ล้วนมีช่วงไดนามิกที่ดีที่สุด ช่วยให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์เมือง ผมขอแนะนำกล้องซีรีส์ Alpha 7R หรือ Alpha 1 หากคุณต้องการถ่ายภาพที่สวยจนน่าทึ่งหรือตัดสินใจที่จะพิมพ์ภาพถ่ายของคุณออกมาในวันข้างหน้า” โคกิกล่าวเสริม 

เนื่องจากภาพทิวทัศน์เมืองนั้นมักจะถ่ายภาพวิวเมืองที่กว้างใหญ่และมีรายละเอียดมากมายในทุกโครงสร้าง โคกิจึงรู้สึกว่าเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ของกล้อง Alpha เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์เมือง โดยเฉพาะ Alpha 1 ที่มีเซ็นเซอร์ขนาด 50 ล้านพิกเซลนั้นถือเป็นตัวเลือกที่ดึงดูดใจของช่างภาพอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงว่า การพิมพ์ภาพออกมาในขนาดใหญ่มากจะไม่ทำให้คุณภาพของภาพด้อยลงเลย เมื่อพิจารณาว่าภาพทิวทัศน์เมืองนั้นมักจะอัดแน่นไปด้วยรายละเอียด กล้อง Alpha 1 จึงเป็นกล้องในอุดมคติสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้  

“เซ็นเซอร์ 50 ล้านพิกเซลช่วยให้ผมสามารถครอปภาพต้นฉบับที่เหมาะสำหรับการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ลดทอนคุณภาพลง และผมยังคงมีภาพขนาดใหญ่คมชัดที่ผมพอใจอยู่ แล้วยังช่วยให้ผมสามารถสร้างภาพแนวตั้งจากภาพที่ถ่ายมาเป็นแนวนอนเพียงภาพเดียวได้ด้วย” เขากล่าวเสริม  

Alpha 1 | FE 24mm F2.8 G | 1.6 sec | F11 | ISO 100

จากฟิลเตอร์สู่เทคโนโลยี  

เพื่อจะได้ท้องฟ้าที่นุ่มนวล โคกิจะใช้ขาตั้งและฟิลเตอร์ VND (ฟิลเตอร์ตัวกรองแบบแปรผัน) ในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ได้ภาพถ่ายทิวทัศน์เมืองที่ดูสงบนิ่งอันเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา ฟิลเตอร์นี้ช่วยให้เขาสามารถลดความเร็วชัตเตอร์ลง ทำให้ได้ภาพทิวทัศน์เมืองที่ดูสงบนิ่งราวกับภาพฝีแปรงจากปลายพู่กันในสไตล์อิมเพรสชันนิสต์ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดขึ้นและมีส่วนสว่างที่เรืองรอง โคกิจะใช้ฟิลเตอร์ Pro-mist แทน เพื่อช่วยลดความจัดจ้านของภาพลง 

Alpha 1 | FE 55mm F1.8 ZA | 1/100 sec | F8 | ISO 160

ในฐานะคนที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล โคกิใช้ทรัพยากรออนไลน์ในการพัฒนาผลงานมาโดยตลอด “ผมมักจะใช้ Google Earth ในการดูและค้นคว้าข้อมูลสถานที่ แผนผังอาคาร และการซ้อนตัวของภาพก่อนจะพยายามถ่ายภาพเสมอ ขั้นตอนนี้ช่วยให้ผมมองเห็นว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไร และควรถ่ายภาพจากจุดไหน หลังจากวันที่ถ่ายภาพมาแล้ว ผมจะมาปรับแต่งภาพและเก็บรายละเอียดใน Adobe Lightroom กับ Photoshop”  

เรื่องของนักท่องเที่ยวและจังหวะเวลา  

เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมต่าง ๆ โคกิดูเหมือนจะหาทางออกที่สมบูรณ์แบบได้ “เวลาที่ผมต้องการภาพจุดท่องเที่ยวที่ดูสะอาดตา ผมจะไปให้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวแต่เช้าตรู่ ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะมาถึงกัน” เขามักจะเปรียบเทียบรูปภาพกับช่างภาพคนอื่น ๆ และท้าทายตัวเองด้วยการถ่ายภาพสถานที่ที่ช่างภาพคนอื่น ๆ ไม่ได้พยายามถ่าย หรือจากช่วงเวลาที่คนอื่นมักไม่เลือกมาถ่ายภาพ ด้วยแนวทางนี้ เขาจึงค้นพบว่าเขาสามารถทดสอบตัวเองและสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่น่าทึ่ง แปลกใหม่ และไม่เหมือนใครได้   

Alpha 7R III | FE 16-35mm F2.8 GM | 18mm | 1/50 sec | F5.6 | ISO 100

สำหรับโคกิแล้ว การถ่ายภาพคือจังหวะเวลา ซึ่งเป็นเรื่องของการฉกฉวยช่วงเวลาที่เหมาะสมในฤดูกาลไว้ โดยเฉพาะเมื่อบันทึกภาพดอกไม้หรือเทศกาลที่เกิดขึ้นประจำฤดูกาล ทว่า เขาพบว่าเวลาออมแสง (Daylight saving) และวันคุ้มครองโลก (Earth day) หรือแม้แต่การซ่อมบำรุงไฟในเมืองก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ภาพมืดหม่นลง เวลาที่ถ่ายภาพทิวทัศน์เมือง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เขาแนะนำให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าไฟในสถานที่สำคัญต่าง ๆ จะเปิดอยู่ก่อนที่จะเริ่มต้นการถ่ายภาพ การตรวจสอบดัชนีหมอกควันก็เป็นอีกเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาการถ่ายภาพสถานที่จำกัด ปัจจัยเหล่านี้อาจจะสร้างหรือทำลายภาพถ่ายได้เลย 

Alpha 1 | FE 24mm F2.8 G | 1/50 sec | F3.5 | ISO 250

แสงและสถานที่  

โคกิสามารถคาดคะเนทิศทางของพระอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำในแต่ละช่วงเวลาของวันจากแอป ซึ่งเป็นปัจจัยการจัดแสงของการถ่ายทิวทัศน์เมืองเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืน เขาจะเลือกถ่ายภาพในตอนคืนแรมเพื่อหลีกเลี่ยงแสงสะท้อนจากดวงจันทร์หรือการเผชิญกับแสงต่าง ๆ นอกจากนี้ โคกิยังหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแหล่งมลพิษทางแสงสูง เช่น ในเขตเมืองหรือย่านชุมชน   

ภาพทิวทัศน์เมืองของเขาจะถ่ายสด ๆ ด้วยโปรไฟล์สีมาตรฐาน ต่างจากพรีเซ็ตสไตล์ที่มักมาเป็นคุณลักษณะของกล้อง เนื่องจากเขาพึงพอใจแล้วกับศาสตร์การให้สีของกล้อง Alpha “เวลาถ่ายภาพทิวทัศน์และทิวทัศน์เมือง ผมไม่รู้สึกถึงความเร่งรีบ การถ่ายภาพเดียวช่วยให้ผมได้ใช้เวลาและใช้ความคิดมาก ๆ กับการถ่ายภาพทุกภาพ สำหรับการถ่ายภาพแบบนี้ ผมคิดว่าการพินิจพิจารณาและใช้เวลาอย่างช้า ๆ เป็นสิ่งสำคัญ” เขากล่าว  

ISO ของเขาตั้งค่าไว้ที่ค่าต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (100-400) ในขณะที่รูรับแสงตั้งไว้ที่ F8 หรือแม้แต่ F11 สำหรับภาพทิวทัศน์ ด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่เท่ากันกับทางยาวโฟกัสหรือสูงสุดถึงสองเท่าของทางยาวโฟกัส 

Alpha 1 | FE 24mm F2.8 G | 1/100 sec | F8 | ISO 100

“ผมพยายามอย่างมากให้แน่ใจว่าภาพถ่ายของผมจะมีแนวคิดที่ต่อเนื่องระหว่างกันและมีสีสันที่ตรงกันที่สุด ซึ่งผมทำโดยการโฟกัสกับสีเพียงไม่กี่สีแทนที่จะมีภาพที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้เซ็ตโทนโดยรวมของภาพถ่ายของผม” โคกิกล่าว “บางครั้งผมอาจจะเติมสีฟ้าลงในส่วนเงาและส่วนสว่างเพื่อภาพที่ดูเป็นโทนเย็นมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ ภาพที่ดูมินิมอลและโมโนโทนโดยไม่ดูพยายามจนเกินไป” เขากล่าว   

ทั้งหมดนี้มีข้อเสียของมัน เพราะเขาถูกจำกัดสิ่งที่เขาสามารถโพสต์ได้ให้ตรงตามธีม และหลายครั้งจำต้องทิ้งภาพถ่ายที่ไม่ตรงตามสมดุลของโทนและความสวยงาม   

ช่างภาพสามารถบันทึกภาพทิวทัศน์เมืองได้จากหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะกลางถนนหรือจากมุมมองของหลังคาหรือยอดตึกที่สูงที่สุด เราเพียงแต่ต้องสร้างสรรค์กับแนวทางการนำเสนอความมหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าเรา แม้กล้อง เลนส์ และการจัดวางล้วนแต่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาพที่ได้ แต่สไตล์ที่ไม่เหมือนใครของช่างภาพต่างหากที่จะเป็นสิ่งที่โดดเด่นสูงสุด  

Alpha 1 | FE 24mm F2.8 G | 1/250 sec | F5.6 | ISO 100
Article Theme

We would like to request access to your Geolocation to provide you with a customised experience. Please know that you can withdraw your consent at any time via your browser settings.