แนะนำ

ภาพถ่ายบุคคลกับกิฟต์ ลี ตอนที่ 3: การถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนผ่านภาพถ่าย

by กิฟต์ ลี

Article Categories

ตั้งแต่ภาพขาวดำสะเทือนอารมณ์ไปจนถึงภาพที่มีแนวคิดเด่นชัดและสร้างสรรค์ หลากหลายเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านภาพถ่ายบุคคลอย่างสุดกำลังตามสไตล์การนำเสนอของช่างภาพ เป้าหมายคือ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ผ่านภาพ แต่ช่างภาพทำอย่างไรจึงถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ กิฟต์ ลี ช่างภาพบุคคลและคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะมาเผยความลับในการสร้างภาพถ่ายที่ดึงดูดสายตาให้เราได้ฟัง  

ความสนใจที่กิฟต์มีต่อการถ่ายภาพแนวนี้เกิดจากการถ่ายภาพทีเผลอของเพื่อน ๆ ที่ไปท่องเที่ยวด้วยกันสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเพียงต้องการเก็บภาพความทรงจำเอาไว้เท่านั้น แต่กิฟต์ก็ตัดสินใจเปลี่ยนความรักที่เธอมีต่อการถ่ายภาพให้กลายเป็นอาชีพ   

“การถ่ายภาพบุคคลนี่มีแรงดึงดูดนะคะ คนเราชอบที่จะได้เห็นคนอื่น ๆ มีอีกอย่างที่ฉันคิดว่ามันน่าสนใจมากนั่นคือ ในหลาย ๆ กรณี คุณแทบจะบอกได้เลยว่าช่างภาพมีความสัมพันธ์แบบใดกับคนที่ถูกถ่ายภาพ แค่เพียงดูจากรูปเท่านั้น” กิฟต์กล่าว “คุณแสดงให้เห็นถึงวิธีที่คุณมองพวกเขาออกมาตามจริง และถ้าคุณทำได้ดี คุณจะสามารถถ่ายทอดแก่นแท้ที่งดงามมากของคน ๆ นั้นและแสดงให้ผู้คนได้เห็นถึงความพิเศษที่คน ๆ นั้นมีอย่างแท้จริง นั่นเป็นสิ่งพิเศษมากค่ะ”  

Alpha 7 IV | FE 24-70mm F2.8 GM | 43 มม. | F2.8 | 1/125 วินาที | ISO 125

มีส่วนร่วมในชุมชนช่างภาพ  

ในการพัฒนาฝีมือของตน กิฟต์เชื่อมโยงกับชุมชนช่างภาพด้วยสไตล์และวิธีการถ่ายภาพที่แตกต่างออกไป ชุมชนจะสะท้อนไอเดียของใครสักคนออกมา และต่างใช้งานของกันและกันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน แนวปฏิบัติของชุมชนคือการทำงานร่วมกัน และมองหาเรื่องราวหรือแนวคิดที่จะใช้ในการทำงานเมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพยนตร์ หรือสถานที่ที่สวยงาม  

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแนวคิดหนึ่งที่พวกเขาหยิบขึ้นมาใช้ นั่นคือ ‘เงาหลอนจากอดีต’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคนรักที่จากไปแล้ว สมาชิกแต่ละคนจะตีความแนวคิดในแบบของตนเอง สำหรับกิฟต์แล้ว เธอใช้เทคนิคการเปิดรับแสงนานเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ที่เหมือนผีในสถานที่ที่ดูอึมครึม เป็นการปลดปล่อยอดีตและความซึมเศร้าเพื่อให้ตรงตามธีม  

“ฉันรู้สึกสนุกและได้เปิดหูเปิดตาทุกครั้งที่ได้เห็นผลงานของช่างภาพคนอื่นที่ทำโครงการเดียวกันค่ะ” กิฟต์กล่าว  

Alpha 7 IV | FE 24-70mm F2.8 GM | 43 มม. | F2.8 | 1/125 วินาที | ISO 125

การกำหนดองค์ประกอบ: ตามสัญชาตญาณของคุณไป  

ทุกครั้งที่ถ่ายภาพ กิฟต์จะพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมอย่างละเอียด เธอจะระมัดระวังองค์ประกอบทางสายตา อย่างเช่น พื้นที่ว่างรอบตัวแบบหรือที่เรียกว่า negative space, สี, เส้นสาย และรูปทรงที่มองเห็นได้ ซึ่งอาจสร้างหรือทำลายองค์ประกอบในภาพของเธอ “ถ้าหนึ่งในองค์ประกอบดังกล่าวให้ความรู้สึกแปลกแยก เยอะเกินไปหน่อยหรือทำให้วอกแวก การลองปรับองค์ประกอบใหม่ก็เป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยม” เธอกล่าว 

Alpha 7 IV | FE 24-70mm F2.8 GM | 40 มม. | F2.8 | 1/60 วินาที | ISO 125

แน่นอนว่าองค์ประกอบควรช่วยเติมเต็มนายแบบนางแบบของเธอ กฎโดยทั่วไปคือ เธอจะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีองค์ประกอบใด ๆ (อย่างเช่นเสาหรือวัตถุแนวตั้ง) ที่จะโผล่มาทำให้ส่วนหัวของตัวแบบเด่นชัดขึ้น หลีกเลี่ยงการถ่ายภาพเส้นขอบฟ้าเอียง และหลีกเลี่ยงที่จะตัดแขนขาของนายแบบนางแบบออกจากเฟรม  

สิ่งหนึ่งที่เธอยึดถือเสมอคือ การมองหาช่างภาพที่ชื่นชอบ เคารพผลงานของพวกเขา และเรียนรู้จากพวกเขา โดยส่วนตัวแล้ว แรงบันดาลใจในงานของเธอจะมาจากช่างภาพชื่อดังอย่าง แอนนี ลีโบวิตซ์ และทอดด์ ฮิโดะ ผู้สร้างผลงานด้วยแรงบันดาลใจจากจิตรกรในยุคคลาสสิก  

“ฉันคิดว่ามันก็ปลอดภัยดีนะคะที่จะตามสัญชาตญาณของคุณไปและเรียนรู้จากมัน การได้ศึกษาทัศนศิลป์แขนงอื่น อย่างภาพวาด ภาพยนตร์ หรือการออกแบบกราฟิกก็ช่วยได้มากค่ะ ช่างภาพบางคน ขอยกตัวอย่างอย่างเช่น แอนนี ลีโบวิตซ์ จะเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากงานจิตรกรรมยุคคลาสสิก หรืออย่างทอดด์ ฮิโดะ ผลงานของเขาทำให้ฉันนึกถึงเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ที่เป็นจิตรกรแนวสัจนิยม และ J.M.W. เอามาก ๆ เลยล่ะค่ะ สำหรับเทอร์เนอร์ก็เป็นจิตรกรยุคโรแมนติกอีกคนที่ฉันยกย่อง ฉันเองก็เป็นพวกคลั่งไคล้งานภาพยนตร์ค่ะ เพราะอย่างนั้นภาพถ่ายของฉันจึงมักใช้องค์ประกอบของภาพที่เหมือนกับภาพยนตร์เช่นกัน” เธอกล่าว  

Alpha 7 IV | FE 35mm F1.4 GM | F2.0 | 1/80 วินาที | ISO 125

ในส่วนของภาพถ่ายบุคคลทีเผลอ เธอเชื่อว่าความไม่สมบูรณ์แบบจะเพิ่มความลึกให้แก่ภาพถ่ายและบุคลิกลักษณะที่เธอนำเสนอได้มากขึ้น กิฟต์ใช้วิธีการเดียวกันกับที่ช่างภาพฮอลลีวูดอย่างเกรก วิลเลียมส์ใช้ โดยในระหว่างที่ถ่ายภาพ เธอจะทำตัวเป็นช่างภาพทั้งสองแบบ นั่นคือ เป็นผู้มีส่วนร่วมและเป็นผู้สังเกตการณ์  

ทั้งสองวิธีทำให้ได้ภาพถ่ายบุคคลสองแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อทำตัวเป็นผู้มีส่วนร่วมในการถ่ายภาพ คุณจำเป็นต้องสื่อสารกับนายแบบนางแบบและชี้นำพวกเขาตลอดการถ่ายภาพ วิธีนี้จะสร้างพลังงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะระหว่างคุณสองคนขึ้นมา ซึ่งจะปรากฏอยู่ในภาพถ่ายอย่างเห็นได้ชัดด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน เมื่อคุณอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ คุณต้องให้อิสระแก่นายแบบนางแบบในการโต้ตอบกับเลนส์กล้องของคุณ วิธีนี้มักใช้ในภาพถ่ายทีเผลอเสมอ แม้ว่าพลังงานที่ได้จะต่างกัน แต่ทั้งสองวิธีก็สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ทั้งคู่ ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าจะใช้วิธีการไหนดี ให้จำไว้ว่าคุณสามารถใช้ทั้งสองวิธีให้เกิดผลดีกับคุณได้เสมอ  

“โดยมากแล้วฉันไม่ใส่ใจหรอกค่ะถ้าภาพมันจะเบลอไปหน่อย ตราบใดที่มันเก็บช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมเอาไว้ได้ บางครั้งความไม่สมบูรณ์แบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้ภาพมีความหมายมากขึ้นนะคะ” เธอกล่าว  

การสื่อสารกับนายแบบนางแบบอย่างราบรื่นคือหัวใจสำคัญ  

Alpha 7 IV | FE 35mm F1.4 GM | F2.2 | 1/250 วินาที | ISO 50

ทุกครั้งที่มีการถ่ายภาพบุคคล ความปรองดองระหว่างช่างภาพและนายแบบนางแบบมีส่วนสำคัญมากต่อผลลัพธ์ที่ได้ กิฟต์บอกว่าการทำงานกับนายแบบนางแบบหมายถึงการให้กำลังใจพวกเขาให้มาก เพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่ออยู่ต่อหน้ากล้อง บางครั้งเมื่อต้องทำงานร่วมกับนายแบบนางแบบมืออาชีพ เธอจำเป็นต้องชี้แนะแนวทางแก่พวกเขาเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาจะไม่ได้เห็นตัวเองตอนที่อยู่ต่อหน้ากล้อง นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ของนายแบบนางแบบเอง เธอยังถามพวกเขาเกี่ยวกับใบหน้าด้านที่พวกเขาถนัดอีกด้วยเพื่อให้งานออกมาดีต่อทั้งสองฝ่าย  

“ฉันพยายามพูดคุยและให้กำลังใจดี ๆ กับพวกเขาตลอดค่ะ แต่แนวนี้ไม่ใช่เรื่องถนัดของฉันเลยจริง ๆ บางครั้งฉันต้องขอให้เพื่อนช่วยด้วยซ้ำ แต่มันก็ออกมายอดเยี่ยมเสมอนะ” เธอกล่าว มีบางครั้งที่เธอเคยแม้กระทั่งขอให้พวกเขาขยับตัว อย่างเช่นให้เดินหน้าและถอยหลังบ้าง โดยเธอจะถ่ายภาพโดยใช้โหมด Hi-continuous shooting วิธีนี้จะทำให้ได้เอฟเฟกต์ที่น่าสนใจและยังอาจได้ภาพถ่ายที่ดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย  

ในขณะเดียวกัน หนึ่งในความท้าทายที่ช่างภาพเจอบ่อยที่สุดในการถ่ายภาพก็คือ การถ่ายภาพนายแบบนางแบบที่ไม่มีประสบการณ์การอยู่ต่อหน้ากล้อง พวกเขาอาจประหม่าและเกร็ง กิฟต์จึงแนะนำให้พวกเขาชวนใครก็ได้ที่ทำให้พวกเขารู้สึกดีมาด้วย ซึ่งจะทำให้พวกเขาสบายใจขึ้นในระหว่างการถ่ายภาพ

Alpha 7 IV | FE 24-70mm F2.8 GM | 50 มม. | F2.8 | 1/400 วินาที | ISO 100

“ถ้าพวกเขาไม่สามารถชวนใครมาเป็นเพื่อนด้วยได้ ฉันมักชวนเพื่อนของฉันที่เป็นมิตรและเป็นพวกง่าย ๆ สบาย ๆ คนที่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้คนอื่นสบายใจมาด้วยค่ะ วิธีนี้ได้ผลทุกครั้งเลย” กิฟต์กล่าว  

อย่าลืมว่า ในการถ่ายภาพบุคคลนั้นไม่ได้มีแค่วิธีเดียวที่จะถ่ายภาพตัวแบบได้ แม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จที่จะพัฒนาสไตล์ของภาพถ่ายบุคคลในแบบที่คุณปรารถนา แต่เราหวังว่าข้อมูลเชิงลึกที่กิฟต์ให้มานี้จะช่วยเพิ่มสีสันให้กับความคิดที่แสนบรรเจิดของคุณ และทำให้คุณเริ่มเกิดกรอบความคิดสำหรับการถ่ายภาพครั้งต่อไปนะ!  

“การรักษาบรรยากาศในการถ่ายภาพให้สนุกและผ่อนคลายจะดีที่สุดทั้งต่อตัวคุณเองและนายแบบนางแบบของคุณ อย่าลืมว่าเราต้องสนุกไปกับมันนะคะ ถึงแม้คุณจะเป็นช่างภาพที่เก่งกาจขนาดไหน แต่สิ่งนั้นจะแสดงให้เห็นในภาพถ่ายเสมอแหละค่ะ” กิฟต์แนะนำ  

Article Theme

We would like to request access to your Geolocation to provide you with a customised experience. Please know that you can withdraw your consent at any time via your browser settings.